แนวคิดเรื่องเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN)
ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า “ยูเนสโก” (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (The Creative Cities Network)” ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริม การสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไปสู่ในระดับนานาชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ทำให้เห็นพลังของวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีต่อการพัฒนานโยบาย ในระดับท้องถิ่น แสดงออกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะของการเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะเป็นรูปแบบใหม่ของความร่วมมือในระดับโลก
ยูเนสโกเห็นว่าเรื่องวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตและเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติกันเป็นประจำจนกลายเป็นกิจวัตรในชุมชน และซึ่งควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ชุมชนเมืองหมายความถึงพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ โดยมีความเชื่อว่าเมืองต่าง ๆ สามารถช่วยสนับสนุนทำให้ดีขึ้น สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงการทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมือง
ที่มา: UCCN, UNESCO Creative Cities Network Call for Applications 2019
เป้าหมายเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก UCCN
1. เสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือนานาชาติ ระหว่างเมืองที่ได้รับการยกย่องที่นําความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยเชิงกลยุทธ์ของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน
2. กระตุ้นและยกระดับการริเริ่มต่าง ๆ ที่นําโดยสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านความร่วมมือกับงานสาธารณะ และภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
3. เสริมสร้างการสร้างสรรค์, การผลิต, การกระจายและเผยแพร่กิจกรรมทางวัฒนธรรม สินค้าและบริการ
4. พัฒนาศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และขยายโอกาสสำหรับผู้ผลิต และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม
5. ปรับปรุงการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมในวิถีวัฒนธรรม ด้วยการชื่นชมสินค้าทางวัฒนธรรมและบริการ โดยเน้นกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มอ่อนแอ และรายบุคคล
6. บูรณาการวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ากับกลยุทธ์และแผนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเต็มที่
ที่มา:รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ (2563)
ประโยชน์ของเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO Creative Cities Network
1. ประชาชนสามารถแสดงทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในเวทีโลก
2. ทำให้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นส่วนประกอบสำคัญ สำหรับเศรษฐกิจท้องถิ่นและการพัฒนาสังคม
3. แบ่งปันความรู้สู่กลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก
4. สร้างศักยภาพท้องถิ่นและฝึกอบรม ทางด้านทักษะธุรกิจ แก่ผู้มีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม
5. พัฒนานวัตกรรม โดยผ่านการแลกเปลี่ยนความชํานาญ (Know-how)
6. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค
7. ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทางวัฒนธรรม (Diverse cultural products) ในตลาดระดับชาติและนานาชาติ
8. เมืองที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในการยอมรับระดับสากล (Sustainable Development Goals – SDGs) เช่น ข้อที่ 11. ความยั่งยืนของเมืองและชุมชน (Sustainable City & Community) เป็นต้น
ที่มา:รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ (2563)
ประเภทเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก
เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network UCCN) มีทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่
หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) การออกแบบ (Design) อาหาร (Gastronomy) ดนตรี (Music) ภาพยนตร์ (Film) วรรณกรรม (Literature) และสื่อประชาสัมพันธ์ (Media Art)
โดยมีเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นสมาชิกเครือข่ายแล้วทั้งสิ้น 246 เมือง ใน 84 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ ปี 2562) และได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ทำ
ให้จำนวนเมืองที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
